วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สื่อในการจัดนิทรรศการ

ประเภทของสื่อในนิทรรศการ
......สื่อที่นำมาใช้ในนิทรรศการสามารถจำแนกตามคุณสมบัติได้ 3 ประเภทได้แก่สื่อวัสดุ สื่ออุปกรณ์ และสื่อกิจกรรม
.
สื่อวัสดุ
......สื่อวัสดุ (materials) ได้แก่ สื่อขนาดเล็ก ๆ มีน้ำหนักเบา บางทีเรียกว่า ซอฟท์แวร์ (software) มีคุณว่าต่อการเรียนรู้ของผู้ชมนิทรรศการเป็นอย่างมาก เนื่องจากสื่อประเภทนี้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมความรู้และประสบการณ์ไว้ได้ บางชนิดสามารถสื่อความหมายได้ในตัวเอง แต่บางชนิดต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์เป็นตัวผ่านขยายจึงจะสามารถสื่อความหมายได้สมบูรณ์ชัดเจน คุณสมบัติของสื่อประเภทนี้มีทั้งชนิดถาวรและชนิดสิ้นเปลือง ตัวอย่างเช่น แผ่นปลิว แผนภูมิ แผนภาพ ภาพถ่าย ภาพโปสเตอร์ เทปวิดีทัศน์ เทปเสียง แผ่นซีดี เป็นต้น
.
สื่ออุปกรณ์
......สื่ออุปกรณ์ (equipments) ได้แก่ สื่อใหญ่หรือสื่อหนัก บางทีเรียกว่า ฮาร์ดแวร์ (hardware) เป็นสื่อประเภทเครื่องมือหรืออุปกรณ์ โดยทั่วไปมีส่วนประกอบเป็นเครื่องยนต์กลไก ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สื่อเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวผ่านขยายสื่อวัสดุให้ผู้ชมนิทรรศการรับรู้และเรียนรู้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เครื่องฉายข้ามศีรษะ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายโปรเจ็คเตอร์ เครื่องวิชวลไลเซอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เครื่องขยายเสียง เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
.
สื่อกิจกรรม
......สื่อกิจกรรม (activities) ได้แก่ กระบวนการนำเสนอความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิดหรือข้อมูลต่าง ๆ ด้วยการกระทำเป็นขั้นตอนเน้นให้ผู้ชมนิทรรศการได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกหรือการลงมือกระทำด้วยตนเอง เช่น การสาธิต การทดลอง การแสดงละคร การตอบปัญหา การโต้วาที การแสดงบทบาทสมมุติ การสร้างสถานการณ์จำลองและการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น
.
การใช้สื่อในนิทรรศการ
สื่อวัสดุ
......สื่อวัสดุที่นิยมใช้ในการจัดนิทรรศการ ได้แก่ แผ่นปลิว แผ่นพับ จุลสาร วารสาร ภาพโฆษณา แผนภูมิ แผนภาพ แผนสถิติ หุ่นจำลอง ของจริง และสื่อวัสดุอิเล็กทรอนิกส์
1. แผ่นปลิว (leaflets) ในงานนิทรรศการใช้แผ่นปลิวได้หลายโอกาส เริ่มตั้งแต่ประชาสัมพันธ์งานและให้ข้อมูลเนื้อหาสาระที่ต้องการสื่อสาร เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากและไม่เฉพาะเจาะจง
2. แผ่นพับ (folders) เป็นสื่อวัสดุที่ให้ข้อมูลข่าวสารได้ดีอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นกระดาษแผ่นใหญ่ที่นำมาพับให้มีขนาดเหมาะสมต่อการใช้งานได้หลายอย่าง
3. จุลสาร วารสาร (journal) เป็นที่นิยมมากในการจัดนิทรรศการขนาดกลางและขนาดใหญ่ และมักจะจัดทำเป็นโอกาสพิเศษสำหรับนิทรรศการนั้น ๆ
4. ภาพโฆษณา (posters) เป็นสื่อที่ทัศนวัสดุที่สร้างขึ้นเพื่อใช้กระตุ้น ชักชวน จูงใจให้ผู้ชมเกิดความสนใจเชื่อถือศรัทธาและนำไปสู่การแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป การใช้ภาพโฆษณาในนิทรรศการจะช่วยเร้าใจให้ผู้ชมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างได้ดี
5. แผนภูมิ (charts) เป็นวัสดุกราฟิกที่มีองค์ประกอบเป็นสัญลักษณ์ รูปภาพและตัวอักษร มีความทนทานและสะดวกในการเก็บรักษาแผนภูมิที่นำมาใช้ถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ในนิทรรศการจำแนกได้ 8 ชนิดดังนี้
___5.1 แผนภูมิแบบต้นไม้ (tree charts) เหมาะสมกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แสดงให้เห็นสิ่งหนึ่ง ๆ
___5.2 แผนภูมิแบบสายธาร (steam charts) เหมาะกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แสดงให้เห็นว่าสิ่งหนึ่ง ๆ เกิดจากหลายสิ่งมารวมกัน
___5.3 แผนภูมิแบบต่อเนื่อง (flow charts) ใช้แสดงเนื้อหาที่เป็นลำดับขั้นตอนของการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้าย
___5.4 แผนภูมิแบบองค์การ (organization charts) ใช้แสดงความสัมพันธ์ของ สายงานในองค์การหรือหน่วยงานหนึ่ง ๆ ซึ่งอาจจำแนกตามตำแหน่งหรือกลุ่มงานก็ได้ เช่น การบริหารงานโรงเรียน การบริหารงานโรงพยาบาล การบริหารงานเทศบาล เป็นต้น
___5.5 แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ (comparison charts) ใช้แสดงเปรียบเทียบ ความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ ทั้งด้านกระบวนการ รูปร่าง ลักษณะ เช่น ลักษณะยุงลายกับยุงก้นปล่อง ลมบกกับลมทะเล การขยายตัวของวัตถุที่ถูกเผากับวัตถุธรรมดา เป็นต้น
___5.6 แผนภูมิแบบตาราง (table charts) ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเหตุการณ์ เช่น ตารางการเดินรถ ตารางเรียน ตารางการแข่งขันกีฬา ตารางแสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ตารางอัตราค่าบริการ เป็นต้น
___5.7 แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ (evolution charts) ใช้แสดงกระบวนการหรือลักษณะการเปลี่ยนแปลงอย่างมีการพัฒนาของสิ่งของหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น วิวัฒนาการของจักรยาน วิวัฒนาการของสัตว์โลกตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการของเชื้อโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
___5.8 แผนภูมิแบบอธิบายภาพ (pictorial charts) ใช้ชี้แจงแสดงข้อมูลส่วนต่าง ๆ ของภาพให้เห็นชัดเจน ซึ่งอาจวางตัวหนังสือทับซ้อนภาพ
6. แผนภาพ (diagrams) เป็นทัศนวัสดุอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นส่วนประกอบต่างๆ ของสิ่งของหรือของระบบงานด้วยภาพ แผนภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
___6.1 แผนภาพลายเส้น เป็นแผนภาพที่เขียนด้วยลายเส้นแบบง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ในภาพรวม เหมาะสำหรับแสดงโครงสร้าง การบอกลักษณะ ตำแหน่งแสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ
___6.2 แผนภาพแบบรูปภาพ เป็นการวาดภาพแสดงโครงสร้างทั้งภายในและภายนอก เพื่ออธิบายส่วนประกอบ ความสัมพันธ์ หรือกระบวนการทำงานของวัตถุนั้น
___6.3 แผนภาพแบบผสม เป็นแผนภาพที่แสดงภาพเหมือมจริงผสมผสานกับภาพลายเส้นในลักษณะของการผ่าซีก ทำให้เห็นวัตถุได้ทั้งส่วนที่เป็นภาพเหมือนจริงซึ่งกระตุ้นให้เกิดเจตคติที่ดีได้
7. แผนสถิติ (graphs) เป็นวัสดุที่เน้นการสื่อความหมายในเชิงปริมาณและตัวเลข แผนสถิติแต่ละเรื่องควรแจ้งที่มาของข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อถือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ชนิดดังนี้
___7.1 แผนสถิติแบบเส้น (line or curve graph)ใช้กับข้อมูลที่แสดงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องได้ดีกว่าแบบอื่นๆ การเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ 2 ข้อมูลขึ้นไป
___7.2 แผนสถิติแบบแท่ง (bar graph) เป็นแบบที่ใช้เปรียบเทียบข้อมูลด้วย การเทียบเคียงกันเป็นคู่ๆ
___7.3 แผนสถิติแบบวงกลม (circle or pie graph) เป็นสื่อที่สร้างความเข้าใจได้ง่าย ใช้แสดงข้อมูลเปรียบเทียบอัตราส่วนของส่วนประกอบต่างๆ
___7.4 แผนสถิติแบบรูปภาพ (pictorial graph) เป็นแผนสถิติที่น่าสนใจเพราะเป็นการแปลงข้อมูลตัวเลขเป็นรูปภาพหรือสัญลักษณ์
___7.5 แผนสถิติแบบพื้นที่ (solid graph) เป็นการใช้พื้นที่ในการแสดงปริมาณของข้อมูลที่ต้องการเปรียบเทียบให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น แผนสถิติแบบช่วงนี้ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลได้อย่างรวดเร็วแต่ให้รายละเอียดได้น้อยกว่าทุกแบบ
8. หุ่นจำลอง (models) เป็นทัศนวัสดุชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบของจริงมีลักษณะเป็น 3 มิติ แสดงสัดส่วนและสีสันเหมือนของจริงทุกประการ หุ่นจำลองที่ใช้ในนิทรรศการมีหลายประเภทดังนี้
___8.1 หุ่นจำลองแสดงรูปทรงภายนอก (solid models)
___8.2 หุ่นจำลองแบบผ่าซีก (cutaway models)
___8.3 หุ่นจำลองแบบแยกส่วน (build – up models)
___8.4 หุ่นจำลองแบบเคลื่อนไหวทำงานได้ (working models)
9. ของจริง (real objects) ได้แก่ สิ่งของที่มีสภาพเป็นของเดิมแท้ๆ ของสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และอาจเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตผู้ชมสามารถรับรู้และเรียนรู้ของจริงได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ประเภทของจริงที่นำมาใช้ในการจัดนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
___9.1 ของจริงตามสภาพเดิม (unmodified real objects) เป็นของจริงที่ยังรักษาสภาพที่เป็นจริงแบบเดิม ๆ ทุกอย่าง ซึ่งของจริงนั้นอาจเป็นสิ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้
___9.2 ของจริงแปรสภาพ (modified objects) เป็นของจริงที่ถูกเปลี่ยนสภาพจากลักษณะเดิม เช่น การใช้สีทาระบายเพื่อแสดงความแตกต่างอย่างชัดเจน การเสริมวัสดุให้แข็งแรงขึ้น หรือการตัดแต่งเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสถานที่ที่ใช้จัดนิทรรศการ
___9.3 ของตัวอย่าง (specimens) เป็นของจริงถูกนำมาเสนอเพียงบางส่วนของทั้งหมด เช่น ดินมีหลายชนิดแต่นำมาแสดงให้เป็นตัวอย่างเพียง 2 ชนิด หินบนดวงจันทร์มีหลายชนิดหลายลักษณะแต่เก็บมานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างในนิทรรศการเพียงชนิดเดียว เป็นต้น
___9.4 สื่อวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ (electronics materials) ได้แก่ สื่อที่ใช้กระแสไฟฟ้าใน การทำงาน ส่วนใหญ่ใช้ประกอบกับเครื่องหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น เทปวิดีทัศน์ เทปเสียง แผ่นซีดี เป็นต้น
.
สื่ออุปกรณ์
1. สื่ออุปกรณ์ประเภทเครื่องเสียง เป็นสื่อโสตอุปกรณ์ (audio equipment) ที่มีความจำเป็นในการจัดนิทรรศการ ช่วยในการปรับเสียงผู้พูดให้ผู้ฟังรับรู้ได้อย่างชัดเจนทำให้สะดวกในการสื่อความหมายและการถ่ายทอดความรู้ในนิทรรศการ ทั้งในบริเวณงานที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ภายในห้องประชุม และห้องจัดนิทรรศการ ซึ่งมีรายละเอียดและวิธีใช้ดังนี้
___1.1 ไมโครโฟน (microphone) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนคลื่นเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าความถี่เสียง ไมโครโฟนมีหลายชนิดแต่ไม่ว่าเป็นชนิดใดย่อมมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของไมโครโฟนเหมือนกันคือค่าความต้านทาน
___1.2 เครื่องขยายเสียง (amplifier) การใช้เครื่องขยายเสียงที่ถูกต้องควรศึกษาถึงกำลังขยายของเครื่องว่าเป็นเครื่องใช้กับไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ (AC) หรือกระแสตรง (DC) กี่วัตต์ (watt) กี่โวลต์ (volt)
___1.3 ลำโพง (speaker) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าที่ขยายแล้วให้กลับเป็นสัญญาณเสียงเหมือนเสียงจากแหล่งกำเนิด โดยกระบวนการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าไหลผ่านขดลวด เสียงของลำโพงทำให้ขดลวดเสียงเคลื่อนที่พาเอากรวยของลำโพงสั่นไปตามความถี่ของสัญญาณไฟฟ้า
2. สื่ออุปกรณ์ประเภทเครื่องฉาย การจัดกิจกรรมประกอบนิทรรศการหลายกิจกรรม จำเป็นต้องใช้เครื่องฉายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งแต่ละเครื่องมีรายละเอียดและวิธีใช้ดังนี้
___2.1 เครื่องฉายข้ามศรีษะ (overhead projector) เป็นเครื่องฉายที่ใช้แผ่นโปร่งใส มีวิธีใช้ง่าย ๆ ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน
___2.2 เครื่องฉายข้ามศีรษะที่ดีควรมีลักษณะดังนี้คือ มีกำลังส่องสว่างสูงสามารถเปลี่ยนหลอดได้สะดวกและรวดเร็ว เลนส์มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของห้องฉายและให้ภาพคมชัด เครื่องเดินเงียบสม่ำเสมอ ไม่มีเสียงรบกวนจากพัดลม แข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายง่าย
___2.3 เครื่องฉายแอลซีดี (LCD : Liquid Crystal Display) เป็นเครื่องฉายที่แสดงผลด้วยคริสทัลโมเลกุลซึ่งอัดอยู่กลางระหว่างแผ่นกระจก โมเลกุลเหล่านี้ จะมีการจัดเรียงตัวกันใหม่ในลักษณะทึบแสงเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ทำให้มองเห็นเป็นภาพหรือตัวอักษร เครื่องแอลซีดีสามารถฉายภาพได้จากอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้
___2.4 เครื่องวิชวลไลเซอร์ (visualizer) เป็นเครื่องฉายแปลงสัญญาณที่ฉายได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว การฉายภาพนิ่งสามารถฉายได้ทั้งภาพทึบแสง ภาพโปร่งแสงและภาพจากวัสดุ 3 มิติ โดยการวางวัสดุที่ต้องฉายลงบนแท่นฉายเพื่อให้กล้องที่อยู่เหนือแท่นฉายจับภาพวัสดุ
.
สื่อกิจกรรม
......สื่อกิจกรรมที่นิยมใช้ในการจัดนิทรรศการมีหลายประเภท ไม่จำเป็นต้องใช้หลายอย่างแต่ควรเลือกประเภทที่เหมาะสมกับคุณลักษณะและองค์ประกอบของงาน ที่สำคัญคือต้องพิจารณาจำนวนผู้เข้าชม กำหนดวัน เวลา และสถานที่ของการจัดกิจกรรมใช้เป็นประโยชน์ที่สุดและเป็นเอกภาพ สื่อกิจกรรมโดยทั่วไปได้แก่
1. การบรรยาย การบรรยายคือการถ่ายทอดข้อมูลหรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารด้วย บอกเล่าเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่จัดประกอบนิทรรศการทั่วไป ซึ่งผู้บรรยายควรเตรียมการศึกษาค้นคว้าและฝึกฝนมาเป็นอย่างดี จึงบรรยายได้อรรถรถชวนติดตาม ผู้บรรยายที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่บรรยายอย่างลึกซึงแจ่มแจ้งหรือเปนผู้มีชื่อเสียงมักจะไม่รับความสนใจซึ่งมีสวนให้นิทรรศการ ประสบความสำเร็จด้วยดี
2. การประชุมสัมมนา เป็นการจัดลักษณะในกลุ่มอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์หรือเป็นการระดมความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เหมาะสำหรับกรณีผู้เข้าร่วมสัมมนามีประสบการณ์มากและมีความรู้ระดับอาวุโส ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน มีความเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีวิทยากร มีแต่ผู้ประสานงานหรือผู้จัดดำเนินการคอยอำนวยความสะดวกและ ให้บริการ ผู้เข้าสัมมนาจะเลือกผู้นำกลุ่มสัมมนาจากผู้เข้ารวมสัมมนาด้วยกันเพื่อเป็นตัวแทนใน การรายงานผลการอภิปรายและดำเนินการสัมมนาไปตามตารางที่กำหนดไว้
3. การสาธิต เป็นกิจกรรมที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระด้วยการแสดงหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างพร้อมกับการบรรยายหรืออธิบายเป็นลำดับขั้นตอน โดยทั่วไปจะประกอบด้วย ขั้นเตรียม ขั้นสาธิต ขั้นสรุปและประเมินผล โดยผู้ชมนิทรรศการมีส่วนร่วมในการสังเกตและร่วมกิจกรรมไปด้วยเป็นระยะ ๆ กิจกรรมนี้เหมาะสำหรับกิจกรรมปฏิบัติที่เป็นกระบวนการมีลำดับขั้นตอน เช่น การสาธิต การประกอบอาหาร การเล่นกีฬา การทำงานศิลปะการประดิษฐ์ต่าง ๆ การทำปุ๋ยชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ ๆ เป็นต้น
4. การแสดงบทบาทสมมุติและสถานการณ์จำลองเป็นกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นกระบวนการที่มีการกำหนดหัวข้อเรื่องปัญหาหรือกำหนดสถานการณ์ขึ้นมาให้คล้ายกับสภาพความเป็นจริง ถ้าเป็นบทบาทสมมุติจะมีการกำหนดให้ผู้ชมนิทรรศการสวมบทบาทและแสดง บทบาทตามกำหนด เช่น มีบทบาทเป็นผู้จัดการ เป็นครู เป็นนักบิน ผู้สวมบทบาทจะแสดงบทบาทตามความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ว่าผู้จัดการ ครู และนักบินควรทำอย่างไร ส่วนสถานการณ์จำลอง ไม่ต้องมีการกำหนดบทบาทแต่ให้ผู้ชมนิทรรศการฝึกการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ด้วยความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของเขาเอง ดังนั้นการแสดงบทบาทสมมุติจึงแบ่งได้เป็น2 แบบคือ บทบาทสมมุติแบบละครและบทบาทสมมุติในการแก้ปัญหา
4.1 บทบาทสมมุติแบบละคร เป็นการแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่มีอยู่แล้ว ผู้แสดงจะได้ทราบเรื่องราวว่าจะขึ้นต้นหรือลงท้ายอย่างไร แต่จะไม่สามารถออกตามเนื้อเรื่องอย่างละเอียด ผู้แสดงบทบาทต้องแสดงออกเอง
4.2 บทบาทสมมุติในการแก้ปัญหา เป็นการแสดงบทบาทที่ผู้แสดงจะได้รับทราบสถานการณ์หรือเรื่องราวเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือ มีความขัดแย้งแฝงอยู่ ผู้แสดงบทบาทจะใช้ความคิดของตนในการแสดงออกอย่างเสรีเพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
......ทิศนา แขมมณี ได้เสนอแนะเทคนิคในการใช้วิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมุติให้มีประสิทธิภาพไว้ 6 ขั้นซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสื่อกิจกรรมประกอบนิทรรศการทางการศึกษาได้ดังนี้
___ขั้นที่ 1 การเตรียม ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะให้ชัดเจน แล้วสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมุติที่จะช่วยสนองวัตถุประสงค์นั้น อาจเป็นบทบาทสมมุติแบบละครหรือเป็นบทบาทสมมุติแบบแก้ปัญหาก็ได้
___ขั้นที่ 2 การเริ่มบทเรียน ผู้สอนสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนหรือผู้ชมได้หลายวิธี เช่น การเชื่อมโยงประสบการณ์ใกล้ตัว หรือใช้วิธีเล่าเรื่องราวสมมุติให้มีความขัดแย้งเพื่อกระตุ้นให้อยากคิด อยากติดตาม
___ขั้นที่ 3 การเลือกผู้แสดง ควรเลือกให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการแสดงหากผู้แสดงมีลักษณะเหมาะสมกับบทบาท จะช่วยให้การแสดงเป็นไปอย่างราบรื่นทำให้บรรลุ วัตถุประสงค์บทเรียนได้อย่างรวดเร็ว
___ขั้นที่ 4 การเตรียมผู้สังเกตการณ์หรือผู้ชม ผู้สอนควรแนะนำและทำความเข้าใจกับผู้ชมว่าการแสดงบทบาทสมมุติที่จัดขึ้นมิได้มุ่งความสนุกสนานอย่างเดียวแต่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้เป็นสำคัญ ดังนั้นผู้ชมควรสังเกตและให้คำแนะนำด้วย
___ขั้นที่ 5 การแสดง ก่อนการแสดงอาจมีการจัดฉากให้ดูสมจริงบ้างแต่ไม่ควรใช้เวลามาก การแสดงไม่ควรใช้เวลานานเกินไป หากการแสดงยืดยาวออกนอกเรื่องหรือมี เหตุการณ์ไม่เหมาสม ผู้สอนต้องตัดบทเพื่อให้การแสดงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์
___ขั้นที่ 6 การวิเคราะห์อภิปรายผลการแสดง เป็นขั้นสำคัญมากที่จะช่วยให้ผู้แสดงเกิดการเรียนอย่างชัดเจน อาจใช้วิธีสัมภาษณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้แสดงและ ผู้ชม จากนั้นจึงช่วยกันสรุปประเด็นโดยเน้นความรู้สึกภายในและการแสดงบทบาทเป็นกรณีเรียนรู้
5. การเล่นเกม เป็นกิจกรรมการแข่งขันที่มีกติกาสำหรับการเล่น อาจแข่งกับตนเองหรือผู้อื่นก็ได้ เกมมีประโยชนหลายอย่างคือทำให้ได้รับความเพลิดเพลิน ร่าเริง สนุกสนาน ตื่นเต้น กระตือรืนร้น มีระเบียบ อยู่ในกฎเกณฑ์ กติกา รู้จักแก้ปัญหา มีสมาธิ รู้จักการอยู่ร่วมกันกับเพื่อน สามารถอดทนรอคอยจนกว่าจะถึงคราวของตน “การเล่นและเกมไม่เพียงแต่จะสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเชื่อถือเท่านั้ แต่ยังทำให้เกิดความหมายที่บริสุทธิ์ และลึกซึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมที่ปกติของชีวิต”
6.การนำการเล่นเกมมาใช้เป็นสื่อในนิทรรศการควรดัดแปลงเกมและวิธีการเล่นให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกิจกรรมอื่น ๆ ของนิทรรศการ เช่น นิทรรศการทางศิลปวัฒนธรรมอาจใช้เกมพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น นิทรรศการทางการศึกษาเหมาะที่จะใช้เกมเกี่ยวกับทักษะ (skill games) ผลของการเล่นเกมประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เล่น เช่น เกมปริศนาอักษรไขว้ (cross word) หมากรุก จับคู่ ต่อภาพ โดมิโน หรืออาจเป็นเกมที่ไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เล่นแต่เกี่ยวกับโอกาส (game of change) เช่นเกมเสี่ยงโชคต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมที่จะเกิดการเรียนรู้หรือสื่อสารสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการ
7. การแสดงและการละเล่น เป็นสื่อกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนานเรียกความสนใจจากผู้ชมนิทรรศการได้ การแสดงที่ดีควรสอดคล้องและส่งเสริมวัตถุประสงค์ของ การจัดนิทรรศการ การแสดงที่นิยมจัดในนิทรรศการ ได้แก่ ดนตรีสากล คอนเสิร์ต ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน รีวิว วิพิธทัศนา ละคร นาฏศิลป์ นาฏลีลา นอกจากนี้ยังมี การแสดงประเภทมหรสพ ซึ่งจัดในนิทรรศการขนาดใหญ่ เช่น ลิเก โขน ลำตัด หนังตะลุง มโนราห์ หมอลำ ส่วนการละเล่นที่นำมาใช้เป็นสื่อสำหรับการจัดนิทรรศการ เช่น การละเล่นของเด็กไทย การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น
8. การจัดประกวดและการแข่งขันทักษะต่าง ๆ สามารถกระตุ้นความสนใจของผู้เข้าประกวดแข่งขันและผู้ชมนิทรรศการได้ดี ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าหาเทคนิควิธีการต่าง ๆ ในเรื่องที่ประกวดและแข่งขัน เป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถได้รวดเร็ว เนื้อหาของการจัดประกวดและแข่งขันอาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการ เช่น การประกวดเรียงความ การเขียนคำขวัญ การวาดภาพ การประกวดพืช ผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ประกวดสัตว์เลี้ยง ประกวดสุขภาพ ประกวดโครงงานและโครงการต่าง ๆ แข่งขันกีฬา แข่งขันดนตรี แข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ แข่งขันจัดตู้ปลา แข่งขันทอผ้า แข่งขันตอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการนั้น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: